วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

การทอเสื่อกก

จัดทำโดย นางสาวอุมาพร เการัมย์ รหัส 51060101006 คณะพยาบาลศาสตร์

ผู้ให้ข้อมูล
นางเปลือย ทองเกลี้ยง บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 4 บ้านหนองตะขบ ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ความเป็นมาของการทอเสื่อกก
การทอเสื่อเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่นิยมทำกันเกือบทุกหมู่บ้าน ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะพบตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ หนอง บึง ที่มีกก เตย ผลือ ปรือ หรือ ขึ้นอยู่หนาแน่น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นวัชพืชทำให้เสียพื้นที่การเพาะปลูกข้าว แต่ถ้านำมาใช้ประโยชน์โดยนำมาทอเสื่อก็จะเป็นประโยชน์
ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีการทอเสื่ออยู่หลายหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น หมู่ที่ 4 บ้านหนองตะขบ ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย ผู้ที่ให้ความรู้คือ นางเปลือย ทองเกลี้ยง บ้านเลขที่ 41 เพราะยามว่างจากฤดูทำนาก็พากันไปเก็บต้นกกที่ขึ้นอยู่ตามหนอง บึง ใกล้ๆหมู่บ้านแต่ที่สำคัญคือต้องระวังเรื่องปลิงด้วยค่ะ เพราะปลิงเยอะ การทอเสื่อทำให้เกิดรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง ซึ่งบางครั้งสถานที่อาจเป็นที่บ้านหรือ ที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก

ขั้นตอนการทอเสื่อ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่
1. ต้นกกที่จะนำมาใช้ทอเสื่อ
2. มีดหรือเคียวใช้ตัดและเกี่ยวต้นกก
3. ฟืม ซึ่งมีทั้งฟืมรูและฟืมฟันปลา
4. กระดานสำหรับรองนั่งทอเสื่อ
5. ไม้กรอบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาวประมาณ 2.5 เมตร
6. สีย้อม
7. เชือกกระสอบ หรือปอแก้ว

การเตรียมต้นกก
ต้นกกที่นิยมใช้ส่วนมากจะเป็นกกสามเหลี่ยม ช่วงการเก็บกกจะเก็บในระยะที่กกมีดอกยังอ่อนอยู่คือดอกจะมีสีขาวนวล ถ้ากกเริ่มแก่สีดอกจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพูและสีแดงตามลำดับ กกแก่จะถอนยาก ลำต้นแข็งกระด้างและกรอบถ้านำไปใช้ จะได้เสื่อคุณภาพไม่ดี ฤดูเก็บกกประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ชาวบ้านมักจะใช้ เวลาเสร็จจากการทำนาคือในช่วงเย็นไปถอนกกและหลังจากทานข้าวมื้อเย็นเสร็จก็นำกกไปจัก เหลา ให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ในตอนกลางคืนจากนั้นก็นำไปผึ่งแดดให้แห้งมัดแขวนรวมกันไว้ในร่มเก็บไว้ทอเสื่อหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็ตกในราวเดือนกุมภาพันธ์
การจักกกคือ การใช้มีดปลายแหลม หรือเหล็กแหลมกรีดเนื้อกกให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ ส่วนใส่กกซึ่งอ่อนจะขุดทิ้งไป กกที่จักเป็นเส้นเล็กเมื่อนำไป ทอจะทำให้เสื่อมีเนื้อละเอียด ผิวเรียบและแน่น ราคาจะแพงขึ้นกว่าเสื่อที่ทอด้วยเส้นกกที่ใหญ่
การทอเสื่อด้วยกี่นอนและฟืมรู
การเตรียมกี่และฟืม การทอเสื่อของชาวบ้านโดยทั่วไปผู้ทอมักจะเป็นผู้หญิง สถานที่ใช้ทอเสื่อกกได้แก่ ใต้ถุนบ้าน หรือใต้ร่มไม้บริเวณบ้าน เริ่มด้วยการนำไม้ไผ่มาตีเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 2 - 3 เมตร ยาว 5 เมตร ด้านบนไม้กรอบกี่ท่อนหน้าและท่อนหลังใช้ตะปูเล็กตอกติดเป็นระยะห่างเท่ากับรูฟืม แล้วเอาเชือกปอแก้วผูกกับตะปูบนไม้กรอบด้านหน้าสอดผ่านรูฟืมไปรัดไว้กับตะปูไม้กรอบด้านหลังจนหมดรูฟืม (ถ้ากกเส้นสั้นจะรวบ 2 ข้างเข้าหากันให้พอดีเส้นกก) จะสอดเชือกเข้าด้านละ 3 - 5 เส้นที่ริมฟืมทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ขอบเสื่อทน เส้นปอที่ดึงกะให้ตึงพอดี ถ้าตึงมากไป เวลากระทบฟืมปอจะเปื่อยขาด ถ้าหย่อน ไปเส้นกกจะไม่กระชับ ก่อนทอคนทอจะสอดไม้ไผ่ท่อนใหญ่เรียกว่าไม้โป่งเป้ง หรืออีโปงเข้าใต้เส้นยืนห่างจากฟืมประมาณ 1.5 เมตร ยกเส้นทอสูงกว่าระดับพื้นเล็กน้อย และช่วยให้เส้นเชือกตึงได้ที่เป็นระยะ ๆ
แสดงการทอเสื่อ

การทอ
เมื่อกางกี่และปรับเส้นยืนได้ที่แล้วจะมีคนทอช่วยกัน 2 คน คนหนึ่งทำหน้าที่กระทบฟืมอีกคนหนึ่งจะสอดเส้นกก เส้นกกที่นำมาเตรียมทอต้องพรมน้ำให้ชุ่มจะได้เหนียวและใช้ผ้าหรือกระสอบพันห่อเส้นกกให้ชุ่มอยู่ได้นาน เนื่องจากฟืมรูเจาะรูและเซาะร่องสลับหน้าหลัง คนกระทบคว่ำฟืมเส้นยืนอ้าขึ้น คนส่งจะพับปลายเส้นกกประกบกับไม้ชนักสอดเข้าไประหว่างเส้นยืนที่อ้าแล้ว กระทบฟืม ต่อไปคนทอหงายฟืมสลับกันจะอ้าขึ้น คนส่งสอดเส้นกกทำเป็นเช่นนั้นเรื่อยไปจนได้เสื่อกกตามต้องการ การส่งกกจะต้องสอดโคนกกและปลายกกสลับกัน เพื่อให้ สีและพื้นผิวของเสื่อเรียบสม่ำเสมอ คนทอเมื่อกระทบเส้นกกเข้าที่แล้วต้องเก็บริมเสื่อพร้อมกันไปด้วยเพื่อกันขอบหลุดลุ่ย ถ้าต้องการลวดลาย คนส่งกกจะเป็นผู้กำหนดว่าจะสอดเส้นกกกี่สี สีละกี่เส้น
การตัดแต่ง
เมื่อได้เสื่อผืนยาวตามต้องการแล้วจะต้องขลิบปลายกกริมขอบเสื่อให้เรียบ ขอบเสื่อจะเส้นสวย ต่อไปตัดเชือกเส้นยืนทางปลายเสื่อที่ละคู่ให้เหลื่อปลายเชือกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วผูกกระชันกับริมเสื่อจนหมดเส้นเชือก แล้วจึงตัดเส้นยืนด้านหัวเสื่อ (ด้านเริ่มทอ) ผูกปลายเชือกเช่นเดียวกันหรือจะถักเป็นเปียชนิดชิดริมเสื่อก็ได้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะได้ผืนเสื่อนำไปตากแดดให้แห้งก่อนนำไปม้วนเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายต่อไป
การทอเสื่อด้วยกี่ตั้งและฟืมฟันปลา
การเตรียมกี่และเส้นยืน กี่ตั้งมัดทำสำเร็จเป็นกรอบไว้เท่ากับขนาดความกว้างของฟืมสูงประมาณ 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ไม้กรอบสี่ด้านบนและล่างจะหมุนเลื่อนได้ เวลาขึงเส้นยืนจะกะให้ได้ความยาวเสื่อตามต้องการ ผูกปลายเชือกเส้นยืนกับไม้กรอบล่างและปลายมนติดไว้กรอบแบน ถอดไม้กรอบบนออกม้วนเชือกทางยืนจนเหลือพอตีกรอบ หมุนม้วนให้เส้นตึงสอดไม้กรอบบนเข้าที่ ตอกลิ่มปรับให้เส้นเชือกทางยืนตึงได้ที่การทอเสื่อด้วยกี่ตั้ง ทำเพียงคนเดียว คนทอวางฟืมพาดตัก สอดเส้นกกสลับขึ้นลงกับเชือกทางยืนจากขวาไปซ้าย สอดฟืมให้เส้นยืนรับกับร่องฟันปลา และกระทบลง ถอดฟืมออกวางบนตักแล้วสอดเส้นกกสลับโคนกับปลายแล้วกระทบ คนทอเก็บริมเสื่อพร้อมไปด้วย เมื่อทอไปจนได้ผืนเสื่อสูงเกือบสุดช่วงแขนจะกระบทไม่สะดวก คนทอจะถอดไม้กรอบบนหมุนหย่อนเส้นยืน แล้วถอดไม้กรอบวางม้วนผืนเสื่อที่ทอแล้วสอดเก็บไว้ที่ไม้กรอบล่าง หมุนไม้กรอบบนให้เส้นยืนตึงสอดคืนเข้าที่ใส่ฟืมแล้วทอต่อจนได้ผืนเสื่อยาวตามความต้องการ เสร็จแล้วตัดปลายเส้นยืน ผูกหรือถักเปียเหมือนทอเสื่อฟืมรู ตัดและแต่งขอบเสือ นำไปตากแดดให้แห้งแล้วม้วนเก็บ

สานสุ่มไก่จากไม้ไผ่

จัดทำโดย นางสาววยุรี ประจักกัง รหัส 51060101034 คณะพยาบาลศาสตร์

ผู้ให้ข้อมูล
นายบุญเหลือ หนองทองทา (ตารงณ์) อายุ 72 ปี
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 3 บ้านโพธิ์ ตำบลหนองขาม อำเภอจักราช
จังหวัดนครราชสีมา 30230

ความเป็นมาของการทำสุ่ม
ในหมู่บ้านมีชาวบ้านจำนวนมากที่ชื่นชอบและนิยมกีฬาชนไก่ จึงมีการเลี้ยงไก่ชนเป็นจำนวนมาก และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงดูไก่ชนอย่างใกล้ชิดคือสุ่มไก่ ซึ่งสุ่มไก่นี้สานได้ง่าย มีราคาถูกและใช้ประโยชน์ได้ดี การสานสุ่มไก่นี้ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานมากสืบทอดมาทั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงได้มีการสานสุ่มสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ได้สานสุ่มเป็นอาชีพ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้นทุกวัน ไม่สามารถออกไปทำงานได้ จึงยึดอาชีพสานสุ่มไก่ขายเป็นหลัก และภายในหมู่บ้านก็หาคนที่จะมาสานสุ่มไก่นี้ยากมากส่วนมากก็จะเป็นคนแก่ที่อยู่แต่บ้าน และส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตกันหลายคนแล้ว และในการสานสุ่มไก่ขายก็เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่มากมายในหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์ ตาจึงยึดอาชีพสานสุ่มไก่เป็นหลักและยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
เครื่องมือและอุปกรณ์

1. เลื่อยคันธนูใช้เลื่อยตัดข้อปลายลำไผ่และเลื่อยตัดปากสุ่มเมื่อสานสุ่มไก่เสร็จแล้ว
2. มีดพร้าใช้ผ่าลำไผ่และเหลาจักตอกไผ่เพื่อแยกส่วนในและส่วนผิวของไผ่ ซึ่งส่วนผิวที่ใช้งานจะมีความเหนียวง่ายต่อการจักสาน
3. ค้อน ใช้ตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดส่วนหัวสุ่มไก่เมื่อสานขึ้นรูป
4. ไม้ไผ่ที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปอายุประมาณ 2 ปี

วิธีการจักสาน
1.การจักตอกไผ่
1.1 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดข้อปล้องแรกของไผ่ทิ้งเพื่อให้ผ่าลำไผ่ได้สะดวก
1.2 ผ่าลำไผ่ออกมาเป็นเส้น ๆ
1.3 จักตอกเส้นไผ่เป็นตอกยืน ตอกยาว และตอกไผ่ตีน (ส่วนข้อไผ่ที่มีตาไผ่) ความกว้างของตอกแต่ละแบบโดยประมาณ คือ ตอกยืน 1.3–1.7 ซม. ตอกยาว 0.8 ซม.และตอกไผ่ตีน 1.6–2.0 ซม. ซึ่งไผ่หนึ่งลำเหลาจักตอกได้ตอกยืนใช้สานสุ่มไก่ได้ 1 ใบ และตอกยาวสานสุ่มไก่ได้ 2 ใบ
1.4 ส่วนที่เป็นข้อไผ่นำมาเหลาเป็นตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่ม เพื่อไม่ให้สุ่มขยับเขยื่อนในขณะสานขึ้นรูป
2. การสานสุ่มไก่
2.1 เริ่มจากสานตอกยาวและตอกยืนเป็นหัวสุ่มแบบลายขัด
2.2 ใช้ค้อนตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่มบนพื้นดินลานกว้าง เพื่อยึดสุ่มไก่ไว้ใน การสานขึ้นรูป
2.3 ใช้ตอกยาวสานรอบ ๆ สุ่มไก่เพื่อขึ้นรูปแบบลายหนึ่ง (ยกหนึ่งข้ามหนึ่ง) โดยจุดเริ่มต้นของตอกยาวแต่ละเส้นเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สุ่มไก่ได้รูปทรงกลม
2.4 สานตีนสุ่มไก่ โดยใช้ตอกไผ่ตีนประมาณ 5 เส้น
2.5 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดส่วนตอกยืนที่ยื่นยาวตีนสุ่มไก่ทิ้งไป

ทางด้านการตลาด
สุ่มไก่ชนที่ทำมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ โดยทั่วไปนิยมขนาดกลาง ขายปลีกราคา 70, 80 และ 110 บาท ตามลำดับ หรือแล้วแต่ลูกค้าจะสั่งว่าต้องการได้ขนาดไหน หากให้ไปส่งที่บ้านจะคิดเพิ่มลูกละ 10 บาท แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาสั่งและมาซื้อที่บ้าน อายุการใช้งานสุ่มไก่ประมาณ 3 ปี แต่โดยทั่วไปสุ่มไก่แต่ละลูกจะใช้เพียง 1 ปีเท่านั้น

ประโยชน์ของสุ่ม
ใช้ในการกักขังไก่หรือเป็นการจำกัดบริเวณของไก่ โดยเฉพาะไก่ชนที่คนในหมู่บ้านชอบเลี้ยงเพื่อไม่ให้ไก่ออกไปรบกวนคนข้างบ้าน