วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

สานสุ่มไก่จากไม้ไผ่

จัดทำโดย นางสาววยุรี ประจักกัง รหัส 51060101034 คณะพยาบาลศาสตร์

ผู้ให้ข้อมูล
นายบุญเหลือ หนองทองทา (ตารงณ์) อายุ 72 ปี
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 3 บ้านโพธิ์ ตำบลหนองขาม อำเภอจักราช
จังหวัดนครราชสีมา 30230

ความเป็นมาของการทำสุ่ม
ในหมู่บ้านมีชาวบ้านจำนวนมากที่ชื่นชอบและนิยมกีฬาชนไก่ จึงมีการเลี้ยงไก่ชนเป็นจำนวนมาก และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงดูไก่ชนอย่างใกล้ชิดคือสุ่มไก่ ซึ่งสุ่มไก่นี้สานได้ง่าย มีราคาถูกและใช้ประโยชน์ได้ดี การสานสุ่มไก่นี้ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานมากสืบทอดมาทั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงได้มีการสานสุ่มสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ได้สานสุ่มเป็นอาชีพ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้นทุกวัน ไม่สามารถออกไปทำงานได้ จึงยึดอาชีพสานสุ่มไก่ขายเป็นหลัก และภายในหมู่บ้านก็หาคนที่จะมาสานสุ่มไก่นี้ยากมากส่วนมากก็จะเป็นคนแก่ที่อยู่แต่บ้าน และส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตกันหลายคนแล้ว และในการสานสุ่มไก่ขายก็เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่มากมายในหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์ ตาจึงยึดอาชีพสานสุ่มไก่เป็นหลักและยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
เครื่องมือและอุปกรณ์

1. เลื่อยคันธนูใช้เลื่อยตัดข้อปลายลำไผ่และเลื่อยตัดปากสุ่มเมื่อสานสุ่มไก่เสร็จแล้ว
2. มีดพร้าใช้ผ่าลำไผ่และเหลาจักตอกไผ่เพื่อแยกส่วนในและส่วนผิวของไผ่ ซึ่งส่วนผิวที่ใช้งานจะมีความเหนียวง่ายต่อการจักสาน
3. ค้อน ใช้ตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดส่วนหัวสุ่มไก่เมื่อสานขึ้นรูป
4. ไม้ไผ่ที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปอายุประมาณ 2 ปี

วิธีการจักสาน
1.การจักตอกไผ่
1.1 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดข้อปล้องแรกของไผ่ทิ้งเพื่อให้ผ่าลำไผ่ได้สะดวก
1.2 ผ่าลำไผ่ออกมาเป็นเส้น ๆ
1.3 จักตอกเส้นไผ่เป็นตอกยืน ตอกยาว และตอกไผ่ตีน (ส่วนข้อไผ่ที่มีตาไผ่) ความกว้างของตอกแต่ละแบบโดยประมาณ คือ ตอกยืน 1.3–1.7 ซม. ตอกยาว 0.8 ซม.และตอกไผ่ตีน 1.6–2.0 ซม. ซึ่งไผ่หนึ่งลำเหลาจักตอกได้ตอกยืนใช้สานสุ่มไก่ได้ 1 ใบ และตอกยาวสานสุ่มไก่ได้ 2 ใบ
1.4 ส่วนที่เป็นข้อไผ่นำมาเหลาเป็นตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่ม เพื่อไม่ให้สุ่มขยับเขยื่อนในขณะสานขึ้นรูป
2. การสานสุ่มไก่
2.1 เริ่มจากสานตอกยาวและตอกยืนเป็นหัวสุ่มแบบลายขัด
2.2 ใช้ค้อนตอกตะขอข้อไผ่หลักหมุดยึดหัวสุ่มบนพื้นดินลานกว้าง เพื่อยึดสุ่มไก่ไว้ใน การสานขึ้นรูป
2.3 ใช้ตอกยาวสานรอบ ๆ สุ่มไก่เพื่อขึ้นรูปแบบลายหนึ่ง (ยกหนึ่งข้ามหนึ่ง) โดยจุดเริ่มต้นของตอกยาวแต่ละเส้นเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สุ่มไก่ได้รูปทรงกลม
2.4 สานตีนสุ่มไก่ โดยใช้ตอกไผ่ตีนประมาณ 5 เส้น
2.5 ใช้เลื่อยคันธนูเลื่อยตัดส่วนตอกยืนที่ยื่นยาวตีนสุ่มไก่ทิ้งไป

ทางด้านการตลาด
สุ่มไก่ชนที่ทำมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ โดยทั่วไปนิยมขนาดกลาง ขายปลีกราคา 70, 80 และ 110 บาท ตามลำดับ หรือแล้วแต่ลูกค้าจะสั่งว่าต้องการได้ขนาดไหน หากให้ไปส่งที่บ้านจะคิดเพิ่มลูกละ 10 บาท แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาสั่งและมาซื้อที่บ้าน อายุการใช้งานสุ่มไก่ประมาณ 3 ปี แต่โดยทั่วไปสุ่มไก่แต่ละลูกจะใช้เพียง 1 ปีเท่านั้น

ประโยชน์ของสุ่ม
ใช้ในการกักขังไก่หรือเป็นการจำกัดบริเวณของไก่ โดยเฉพาะไก่ชนที่คนในหมู่บ้านชอบเลี้ยงเพื่อไม่ให้ไก่ออกไปรบกวนคนข้างบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น